เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้นายวิสุทธิ์ ชุมคง เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมสำรวจสินค้าถ่ายลำ ไม่นำของออกนอกราชอาณาจักรใน 30 วัน จึงอายัดเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ประสานเจ้าของสินค้ารับทราบการตรวจในครั้งนี้
จากการเข้าตรวจสอบได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างจากภาชนะที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดส่งของเหลว (ISO TANKS) ตรวจวิเคราะห์โดยเครื่องวิเคราะห์โครงสร้างทางเคมีและหาองค์ประกอบของสาร (Roman spectrometer) พบเป็นสาร 1,4-BUTANEDIOL จำนวน 501,740 กิโลกรัม บรรจุใน ISO TANKS จำนวน 21 ตู้ ปริมาณตรงตามสำแดง นำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 บัญชี 5.1 ลำดับที่ 15 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชี 5 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ จึงได้ยืนยันชนิด มาตรฐาน คุณภาพ หรือข้อเท็จจริงอื่นใดอันเกี่ยวกับการประเมินราคาอากร รวมไปถึงวิธีการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 102 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ในการควบคุมตามขั้นตอนของสำนักงานด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กรมโรงงานฯ ตรวจร่วมศุลกากรแหลมฉบัง อายัด 21 ตู้คอนเทนเนอร์ ไม่นำออกภายใน 30 วัน
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ. #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #MIND #กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย #สำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง #BOD #1,4-BUTANEDIOL