You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ สนธิกำลังทหารเฉพาะกิจลาดหญ้า และสอจ.กาญจนบุรี ตรวจยึดอายัดการ ลักลอบขน “กรดไนตริก-กรดซัลฟูริก” สารตั้งต้นผลิตยาเสพติด น้ำหนักรวมกว่า 6,650 กิโลกรัม
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางอลิสรา รังษีภโนดร ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย และนางสาวปานทอง ศรีคัฒนพรหม รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจยึดอายัดการ ลักลอบขน “กรดไนตริก-กรดซัลฟูริก” สารตั้งต้นผลิตยาเสพติด น้ำหนักรวมกว่า 6,650 กิโลกรัม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับแจ้งจากหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ พร้อมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี รายงานบันทึกการตรวจค้นรถกระบะบรรทุก จำนวน 3 คัน  มีการบรรทุกกรดไนตริกและกรดซัลฟูริก จากประเทศไทย เพื่อส่งออกยังประเทศเมียนมา ภายในรถบรรทุกคันแรก มีถังพลาสติกสีดำ มีฉลากระบุว่า กรดไนตริก ความเข้มข้น 68% ขนาดบรรจุ 35 กิโลกรัม จำนวน 80 ถัง และในรถบรรทุกคันที่สอง มีถังพลาสติกสีน้ำเงิน มีฉลากระบุว่ากรดชัลฟูริก ความเข้มข้น 98% ขนาดบรรจุ 35 กิโลกรัม จำนวน 80 ถัง ณ จุดตรวจร่วมบ้านน้ำเกิ๊ก หมู่ที่ 4 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประชุมร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ พร้อมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้ตรวจค้นรถกระบะบรรทุกรถคันที่สาม พบมีถังพลาสติกสีดำ
มีฉลากระบุว่า กรดไนตริก ความเข้มข้น 68% ขนาดบรรจุ 35 กิโลกรัม จำนวน 15 ถัง และมีถังพลาสติกสีน้ำเงิน มีฉลากระบุว่ากรดชัลฟูริก ความเข้มข้น 98% ขนาดบรรจุ 35 กิโลกรัม จำนวน 15 ถัง ณ จุดตรวจร่วมบ้านน้ำเกิ๊ก หมู่ที่ 4 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า กรดไนตริก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และกรดชัลฟูริก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าการส่งออกสารดังกล่าวได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดอายัดไว้ เพื่อดำเนินคดีกับตัวการต่อไป

นายจุลพงษ์ กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่มีการเข้มงวดจุดตรวจจุดสกัด แนวตะเข็บชายแดน เพื่อป้องกันปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และสิ่งของผิดกฎหมายทุกประเภท และพบการกระทำผิด ได้ประสานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ เบื้องต้นผู้ขับรถกระบะบรรทุกให้การว่า ถูกว่าจ้างให้ไปรับสินค้าที่สมุทรปราการและนครปฐม นำมาส่งผู้รับ บริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กระทั่งมาถูกจับกุม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์หาผู้รับสินค้า แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดอายัดวัตถุอันตรายดังกล่าวไว้ทั้งหมด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ในการลงพื้นตรวจสอบสารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ โดยจากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าการส่งออกวัตถุอันตรายดังกล่าวได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดในข้อกล่าวหา
“ฝ่าฝืน มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 72 สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และฝ่าฝืน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3” พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป บทลงโทษสูงสุดสำหรับผู้ส่งออกวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมตรวจ ประกอบด้วย นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางอลิสรา รังษีภโนดร ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย นางสาวปานทอง ศรีคัฒนพรหม รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย โทร. 0 2430 6308 ต่อ 1706-9

#MIND #กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ. #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย
#กรดซัลฟูริก #กรดไนตริก