วันนี้ (26 ตุลาคม 2566) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายประสม ดำรงพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายเพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ภายใต้ “โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน” (Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities Project) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ หัวหน้าโครงการฯ และคณะทำงานจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พร้อมด้วย ดร.ศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเชาวนันท์ พิลาออน วิศวกรโลหะชำนาญการพิเศษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นางสาววราวรรณ เฉลิมโอฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี UNIDO
นางวาสนา เล็กสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย นายศิระ จันทร์เฉิด นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ นางสาวนวพร สงวนหมู่ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ นายวรสันติ์ เหล่าชัย นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ และนางสาวปัณฑิตา บัวจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 505 กรมโรงงานอุตสาหกรรม
.
การประชุมหารือในครั้งนี้สืบเนื่องจากโครงการฯ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (สลท.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) โดย การสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ด้วยแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ได้มอบหมายฯ ให้ NIDA ศึกษาวิจัยในการยกร่างนโยบายเพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้องค์ประกอบที่ 1 ของโครงการฯ
.
.
ประเด็นสำคัญที่ NIDA ขอหารือกับทางกรมโรงงานฯ คือ ร่าง กฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงฯ ฉบับที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวปฏิบัติในการบังคับใช้บทลงโทษ ขั้นตอนการปฏิบัติและแนวทางการรับรอง หรือการมีหน่วยงานกลาง เพื่อตรวจสอบยืนยันผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ได้นำไปใช้กับโรงงานแล้ว สามารถลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ด้วยแนวทางเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลโลหะ