You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ” ร่วมเสวนาเส้นทางสู่ ปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายระดับโลก ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2)
📆วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference: TCAC 2) “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจน คณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม ณ SX Grand Plenary Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เสวนาการขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม – เส้นทางสู่ ปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายระดับโลก (Trails to 2030 and Beyond) ในการประชุมดังกล่าว
📌โอกาสนี้ “อธิบดีกรมโรงงานฯ” ได้ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาการขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม – เส้นทางสู่ ปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายระดับโลก (Trails to 2030 and Beyond) ในการประชุมดังกล่าว โดยกรมโรงงานฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในสาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Process and Product Use: IPPU) รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีส
ผู้บริหารกรมโรงงานฯ เข้าร่วมประชุม ในครั้งนี้
🏭ปัจจุบัน กรมโรงงานฯ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขา IPPU รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม ใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการทดแทนปูนเม็ด โดยการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และการใช้วัสดุทดแทนปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นในคอนกรีตผสมเสร็จ มาตรการทดแทน/ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น และการกำจัดทำลายของเสียและสารทำความเย็นที่เสื่อมสภาพอย่างถูกวิธี และมาตรการการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมด้วยการนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพัฒนาศักยภาพและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเคมีภายใต้โครงการ Climate Action Programme for Chemical Industry (CAPCI) การเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End of Waste) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมในภาคของเสียและภาคพลังงานในอุตสาหกรรมต่อไปด้วย
❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧❄️☀️🌧