อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งแก้ไขปัญหาจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี โดยมี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการภายใต้โครงการ “จ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี” เป็นเงินจำนวนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อจัดการกากของเสีย กว่า 12,000 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 และจะดำเนินการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ และนายสมพงษ์ เผยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหาในพื้นที่อื่นต่อไป
วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมี นายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ ผู้จัดการบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) บรรยายแผนการดำเนินโครงการ “จ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี” โดยมี นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายบวร สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน นายประสม ดำรงพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก ร่วมด้วย นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นายอานันท์ ฟักสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
จากนั้น อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปพบปะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ณ ศาลากลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมี ผู้แทนภาคประชาชน นำโดย นายธนู งามยิ่งยวด ประธานกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ และ นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำประชาชนในพื้นที่เข้ารับฟังความก้าวหน้าการดำเนินการของกรมโรงงานอุตสาหกรรมต่อ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ เพื่อประชาชนได้อุ่นใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมบนดินกว่า 12,000 ตัน ออกจากพื้นที่ภายใน 210 วัน
ต่อมา เวลา 13.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ นายอานันท์ ฟักสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ร่วมแถลงข่าว กรณี บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ณ ห้องประชุมแม่กลอง ชั้น 5 อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังใหม่ จังหวัดราชบุรี โดยเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากกลิ่นเหม็นสารเคมีฟุ้งกระจาย รวมถึงปัญหาการปนเปื้อนน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด บนพื้นที่มากกว่า 54 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยที่ผ่านมา กรอ. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ใช้ข้อกฎหมายเข้าสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงาน พร้อมเร่งรัดนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ออกไปกำจัด/บำบัดตามหลักวิชาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของมลพิษ รวมทั้งบรรเทาความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด ทำให้ กรอ. ต้องเข้าดำเนินการแทน ด้วยงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้รับการจัดสรร จำนวนกว่า 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ตามความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี จัดทำเป็น “ราชบุรีโมเดล” โดยดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ผ่านวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในนาม กรอ. เป็นระยะเวลา 210 วัน กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 29 มีนาคม 2567
นายจุลพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 กำจัดของเสียที่ตกค้างบนดินทั้งในและนอกโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่อันตรายและมีความเร่งด่วนมากที่สุดก่อน โดยจะดำเนินการตรวจสอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และของเสียเคมีวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย รวมจำนวนกว่า 12,000 ตัน เบื้องต้นประเมินว่ามีของตกค้าง อาทิ ถังเปล่า ตัวทำละลายใช้แล้ว น้ำมันปนเปื้อน น้ำปนเปื้อน กากสี เศษผ้าปนเปื้อน ผงเหล็ก วัสดุดูดซับ ตะกอนน้ำมัน ตลอดจนของเสียตกค้างในบ่อกักเก็บจำนวนมาก และนำไปกำจัด/บำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามกฎหมาย พร้อมค้นหาจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใต้ดินภายในโรงงาน ระยะที่ 2 จะเป็นการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษใต้ดินที่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยหลังเสร็จระยะที่ 2 กรอ. จะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ และนายสมพงษ์ฯ ต่อไป
“กรอ. ใช้ทุกข้อกฎหมายทั้งหมดที่มีเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และโปร่งใส ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหา ซึ่งจะได้นำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ขอให้มั่นใจในความรับผิดชอบที่ทุกภาคส่วนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดความเดือดร้อนเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ให้รวดเร็วที่สุด” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #จังหวัดราชบุรี #กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #กรมควบคุมมลพิษ #กากอุตสาหกรรม #แวกซ์กาเบ็จ #บริษัทแวกซ์กาเบ็จรีไซเคิลเซ็นเตอร์จำกัด #ไฟไหม้แวกซ์กาเบ็จ #ราชบุรีโมเดล #ชาวบ้านน้ำพุ