You are currently viewing กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมหารือการทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงคุณภาพดินจากกากอุตสาหกรรม

วันที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมหารือด้านวิชาการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำกลับมาผลิตปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน โดยมี นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นางสาวนวพร สงวนหมู่ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอธิบดี กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

หารือด้านวิชาการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำกลับมาผลิตปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน
หารือด้านวิชาการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำกลับมาผลิตปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน

การหารือในครั้งนี้ เป็นการร่วมพิจารณานำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่อนุญาตการนำกากอุตสาหกรรมมาทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Management Codes) รหัส 083 โดยอนุญาตเฉพาะวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นวัสดุอินทรีย์ย่อยสลายได้ สามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ เศษชิ้นส่วนพืชและสัตว์ ขี้เถ้าแกลบ กากกาแฟ กากยีสต์ กากกรองเบียร์ ดินฟอกสีน้ำมันพืช เป็นต้น โดยจะต้องไม่ปนเปื้อนสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน สารยับยั้งจุลชีพ สารกำจัดแมลงศัตรูหรือโรคพืชและสัตว์ อีกทั้งต้องเป็นกากตะกอนชีวภาพจากอุตสาหกรรมอาหารหรือเกษตรแปรรูป เยื่อและกระดาษ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี จำเป็นต้องหาวิธีจัดการอื่นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารที่ไม่พึงประสงค์ไปยังดินและแหล่งน้ำใต้ดินเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนป้องกันการสะสมสารเคมี สารอนินทรีย์ในดิน น้ำใต้ดิน เกินขีดจำกัดที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืช รวมถึงกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร ตลอดจนการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ในระยะยาว

ภายหลังจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตรจะเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการร่วมกัน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การผลิตปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงาน ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสลากสารปรับปรุงคุณภาพดิน คาดว่าจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

“การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและถูกต้องตามหลักวิชาการ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สอดคล้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามนโยบายของรัฐบาล” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่อนุญาตการนำกากอุตสาหกรรมมาทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน
เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่อนุญาตการนำกากอุตสาหกรรมมาทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมหารือการทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงคุณภาพดินจากกากอุตสาหกรรม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมหารือการทำปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงคุณภาพดินจากกากอุตสาหกรรม

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #กากอุตสาหกรรม #สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว #ปุ๋ยหมัก #สารปรับปรุงคุณภาพดิน #Composting #SoilConditioner #BCG #BCGEconomyModel