You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ สั่งดำเนินการขั้นเด็ดขาด เตรียมปิด “เอกอุทัย อยุธยา” หลังลงพื้นที่นำหมายศาลตรวจค้น พบอีก! ลักลอบเททิ้งของเสียอันตรายลงคลองสาธารณะ และปกปิดซ่อนเร้นอำพรางพื้นที่กระทำผิดหลายจุดบริเวณโรงงาน

วันที่ 1 กันยายน 2566 เวลา 10.30 . นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพโรงงานของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขาอุทัย) ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเก็บข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการดำเนินคดี โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายประสม ดำรงพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน เจ้าหน้าที่กองพัฒนาระบบมาตรฐานงานกำกับโรงงาน ร่วมด้วย นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายดำรงพล พวงมาลัย ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรอุทัย และเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขาอุทัย) ได้รับใบอนุญาตลำดับที่ 105 และ 106 ประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย นำน้ำมันหล่อเย็นที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการกรองเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ คัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย นำสารละลายกรดด่าง ที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ระงับการนำกากอุตสาหกรรมในระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาภายในโรงงาน พร้อมทั้งมีคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้โรงงานระงับการประกอบกิจการเพื่อปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต และต่อมา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำคำสั่งไปปิดประกาศเพิ่มเติมให้การปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการดังกล่าวแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 แต่กลับตรวจพบการกระทำความผิดอย่างอุกอาจเกี่ยวกับการลักลอบเททิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงงาน จึงใช้อำนาจตามกฎหมายในการยึดอายัดภาชนะบรรจุ สิ่งของต่างๆ และยานพาหนะทั้งหมดของโรงงาน เพื่อป้องกันมิให้มีการเคลื่อนย้ายและทำลายหลักฐานตามที่ตรวจพบข้างต้น

นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อประสานไปยังกรรมการบริษัทฯ เพื่อขอเข้าตรวจสอบสภาพโรงงานแต่ไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าไปโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่จึงแสดงหมายค้นจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ดำเนินการทางกฎหมายและเข้าตรวจค้นโรงงานในทันที พบว่า โรงงานปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ อาคารโกดัง 106 (3) มีสภาพชำรุด หลังคาสังกะสีเปิดอ้า มีน้ำฝนรั่วเข้ามาได้ ภายในตรวจนับถัง IBC (Intermediate Bulk Container) ขนาด 1,000 ลิตร จำนวนประมาณ 1,000 ถัง ถังพลาสติก 200 ลิตร จำนวน 168 ถัง และบ่อปูนซีเมนต์ จำนวน2 บ่อ ส่วนภายนอกอาคารโกดังมีถังเก็บสารเคมีจำนวนมากถูกกองเกลื่อน สภาพกึ่งชำรุด บรรจุกากของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายซึ่งมีสภาพเป็นกรด เบื้องต้นตรวจนับได้ถัง IBC ขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 270 ถัง ถังเหล็ก 200 ลิตร จำนวน 5 ถัง ถังพลาสติก 150 ลิตร จำนวน 11 ถัง อีกทั้งไม่พบการติดตั้งหรือใช้งานเครื่องจักรให้ตรงกับที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ และไม่พบการใช้ระบบขจัดฝุ่นละออง กลิ่น ไอสารเคมี ที่เกิดจากกระบวนการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังตรวจพบดินปนเปื้อนและของเหลวสีดำคล้ำที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นถูกเททิ้งและรั่วไหลนองอยู่เต็มพื้นภายในบริเวณโรงงานในปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากการตรวจสอบครั้งก่อน ซ้ำพบร่องรอยถูกเททิ้งลงท่อระบายน้ำจนไหลลงสู่คลองสาธารณะของชุมชนที่ใช้เป็นบ่อบาดาลสำหรับอุปโภคบริโภค

ตรวจพบดินปนเปื้อนและของเหลวสีดำคล้ำที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นถูกเททิ้งและรั่วไหลนองอยู่เต็มพื้นภายในบริเวณโรงงานในปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากการตรวจสอบครั้งก่อน
ตรวจพบดินปนเปื้อนและของเหลวสีดำคล้ำที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นถูกเททิ้งและรั่วไหลนองอยู่เต็มพื้นภายในบริเวณโรงงานในปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากการตรวจสอบครั้งก่อน

เวลาต่อมา คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นที่บริเวณด้านหลังของโรงงาน ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกก่อสร้างปกปิดซ่อนเร้นอำพรางทางเข้าออกด้วยสังกะสี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงใช้อำนาจตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการถมดินสูงขึ้นจากระดับพื้นโรงงาน ประมาณ 0.5 เมตร พื้นถูกปูด้วยฉนวนใยสังเคราะห์ มีการก่อสร้างบ่อกักเก็บของเหลว ขนาดความกว้าง 12 เมตร ความยาว 50 เมตร เมื่อนำของเหลวมาตรวจสอบเบื้องต้น มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ประมาณ 1 เป็นกรดเข้มข้น คาดว่าอาจจะเป็นบ่อน้ำเก่าที่มีการปล่อยน้ำเสียสารเคมีลงบ่อแล้วถมดินขึ้นสูงกว่าเดิม นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ด้านข้างของโรงงาน ซึ่งเป็นที่ดินเอกชนถูกปิดล้อมด้วยสแลน หรือ ตาข่ายกรองแสง (Shading Net) มีบ้านพักสำหรับคนงาน และบ่อน้ำ จำนวน 2 บ่อ บ่อแรกขนาดความกว้าง 12 เมตร ความยาว 35 เมตร น้ำภายในบ่อมีสีเขียวเข้ม มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) น้อยกว่า 2 เป็นกรด ส่วนบ่อที่ 2 ขนาดความกว้าง 25 เมตร ความยาว 30 เมตร ลักษณะคล้ายถูกถมด้วยดิน

พื้นที่บริเวณด้านหลังของโรงงาน ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกก่อสร้างปกปิดซ่อนเร้นอำพรางทางเข้า-ออกด้วยสังกะสี
พื้นที่บริเวณด้านหลังของโรงงาน ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกก่อสร้างปกปิดซ่อนเร้นอำพรางทางเข้า-ออกด้วยสังกะสี

อธิบดีกรมโรงงานฯ เผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ได้รับผลกระทบได้ให้โอกาสโรงงานดังกล่าวในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงทางกฎหมาย แต่โรงงานยังคงประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องมือขั้นเด็ดขาด โดยเตรียมขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาต ควบคู่ดำเนินคดีเอาผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย .. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน .. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯ จะเปลี่ยนรายชื่อกรรมการบริษัมชุดใหม่ ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 แต่กรรมการบริษัทฯ ชุดเดิมและชุดใหม่ต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีทุกฐานความผิดต่อพนักงานสอบสวน บก.ปทส. เรียบร้อยแล้ว

เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อประสานไปยังกรรมการบริษัทฯ เพื่อขอเข้าตรวจสอบสภาพโรงงานแต่ไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าไปโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่จึงแสดงหมายค้นจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ดำเนินการทางกฎหมายและเข้าตรวจค้นโรงงานในทันที
เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อประสานไปยังกรรมการบริษัทฯ เพื่อขอเข้าตรวจสอบสภาพโรงงานแต่ไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าไปโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่จึงแสดงหมายค้นจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ดำเนินการทางกฎหมายและเข้าตรวจค้นโรงงานในทันที
ปกปิดซ่อนเร้นอำพรางพื้นที่กระทำผิดหลายจุดในบริเวณโรงงาน
ปกปิดซ่อนเร้นอำพรางพื้นที่กระทำผิดหลายจุดในบริเวณโรงงาน
นำของเหลวมาตรวจสอบเบื้องต้น มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นกรดเข้มข้น
นำของเหลวมาตรวจสอบเบื้องต้น มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นกรดเข้มข้น
กรมโรงงานฯ ใช้เครื่องมือขั้นเด็ดขาด โดยเตรียมขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาต ควบคู่ดำเนินคดีเอาผิดทางกฎหมาย
กรมโรงงานฯ ใช้เครื่องมือขั้นเด็ดขาด โดยเตรียมขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาต ควบคู่ดำเนินคดีเอาผิดทางกฎหมาย

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระราชบัญญัติโรงงาน #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กฎหมายโรงงาน #กากอุตสาหกรรม #กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #ปทส #เอกอุทัย #บริษัทเอกอุทัยจำกัด