เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ร่วมกับ นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย พ.ต.อ. วิญญู แจ่มใส ผู้กำกับการ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อติดตามตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยมี ตัวแทนผู้ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริษัทของโรงงานเป็นผู้ให้ข้อมูลและเป็นผู้นำตรวจพื้นที่โรงงานในครั้งนี้
โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และนำสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือการนำของเสียจากโรงงานรวมถึงวัตถุอันตรายมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยเจ้าหน้าที่ได้ร่วมตรวจกำกับตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งให้โรงงานระงับการประกอบกิจการและให้ปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา อาทิ การเก็บวัตถุดิบผลิตภัณฑ์และกากของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตภายในอาคาร การจัดการอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในประบวนการผลิต การขนถ่ายของเหลวไวไฟ เป็นต้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงงานดังกล่าวยังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้สั่งการไว้
นอกจากนี้ ระหว่างการตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่ง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบพื้นที่ต้องสงสัยภายในบริเวณโรงงาน ซึ่งถูกล้อมรั้วด้วยกำแพงสังกะสีเก่า ด้านหนึ่งถูกก่ออิฐปิดทึบ และเมื่อเปิดช่องกำแพงสังกะสีเข้าไปด้านในพบพื้นที่ขนาดความยาวประมาณ 70 เมตร ความกว้าง 10 เมตร ลักษณะเป็นดินปนทราย มีของเหลวสีดำไหลซึมขึ้นมาบนผิวดิน เมื่อนำของเหลวบนผิวดินมาตรวจสอบเบื้องต้น มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้อยกว่า 2 เป็นกรดแก่ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับผนังอาคารโกดังขนาดใหญ่ ภายในอาคารมีกลิ่นเหม็นฉุนของสารเคมี มีบ่อปูนซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ ของเหลวภายในบ่อมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้อยกว่า 2 รวมทั้งมีภาชนะเหล็กสำหรับใช้บรรทุกกากอุตสาหกรรม (Lugger Truck) ถังเก็บสารเคมี (Intermediate Bulk Container: IBC) ถังขนาด 200 ลิตร และแกลลอนพลาสติกจำนวนมาก
และต่อมา เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบพื้นที่ภายนอกติดกับด้านข้างของโรงงาน เป็นที่ดินที่ถูกปิดล้อมด้วยตาข่ายกรองแสง หรือที่เรียกกันว่า สแลน (Shading Net) มีบ้านพักสำหรับคนงาน และบ่อน้ำ จำนวน 2 บ่อ บ่อแรกขนาดความกว้าง 12 เมตร ความยาว 35 เมตร น้ำภายในบ่อมีสีเขียวเข้ม มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้อยกว่า 2 ส่วนบ่อที่ 2 ขนาดความกว้าง 25 เมตร ความยาว 30 เมตร ลักษณะคล้ายถูกถมด้วยดินและมีน้ำขัง มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 4 นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบพื้นที่แปลงนาข้าวของชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียง พบร่องน้ำมีลักษณะของเหลวข้นสีส้ม มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้อยกว่า 2
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เก็บตัวอย่างดินและน้ำบริเวณภายในและภายนอกโรงงาน ตลอดจนพื้นที่เกษตรกรรมข้างเคียง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการของกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน โดยจะนำผลที่ได้ไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #พระราชบัญญัติโรงงาน #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กฎหมายโรงงาน #กากอุตสาหกรรม #กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #ปทส