You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ ลงพื้นที่คุมเข้ม จัดการสารเคมีอันตรายซุกโกดังเถื่อนในอยุธยา ลั่น! ของเสียเกิดจากที่ไหน ที่นั่นต้องรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจติดตามสภาพปัญหาลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายหลายชนิด ราว 4,000 ตัน ภายในโกดังเก่าซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 5 หลัง ตั้งอยู่ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวอภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอภาชี เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้แทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

นายจุลพงษ์ เผยว่า การแก้ปัญหาระยะด่วน ได้เร่งจัดการเก็บ (clean up) น้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีที่รั่วไหลในพื้นที่โกดังและบริเวณโดยรอบโกดัง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน โดยสูบน้ำเสียปนเปื้อนดังกล่าวที่มีลักษณะเป็นกรดเข้มข้นบรรจุในถังพลาสติกขนาด 1,000 ลิตร หรือที่เรียกว่า ถัง IBC (Intermediate Bulk Container) รวมทั้งเศษพลาสติก เศษเหล็ก ดินปนเปื้อน และวัสดุปนเปื้อน บรรจุในบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กแบ็ก (Big Bag) จากนั้นขนย้ายไปเก็บภายในโกดังที่รองพื้นด้วยผ้าใบอุตสาหกรรมสำหรับป้องกันการไหลซึมลงพื้น ก่อนจะนำไปกำจัดบำบัดตามหลักวิชาการ ซึ่งได้รับความยินยอมจากเจ้าของโกดังให้ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้ำเสียปนเปื้อนที่ถูกสูบแล้ว โดยสูบเก็บน้ำปนเปื้อนบริเวณบ่อซีเมนต์ที่เคยเป็นที่ตั้งตราชั่งรถบรรทุกของโกดัง และบริเวณลำรางสาธารณะริมถนนแขวงทางหลวงด้านหน้าโกดัง พร้อมปรับสภาพดินด้วยปูนขาว ส่วนบ่อดินภายในโกดัง ขนาดกว้าง 120 ตารางเมตร ลึก 4 เมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำเสียมีฤทธิ์เป็นกรดในบ่อประมาณ 480 ลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาอีก 2 วันจึงจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ได้สูบเก็บน้ำเสียปนเปื้อนที่เป็นของเหลว รวมแล้วกว่า 100 ตัน และประเมินว่ายังคงเหลืออีกราว 300 ตัน อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดอื่นที่ต้องสำรวจเก็บตัวอย่างตรวจหาสารเคมีเพิ่มเติมเพื่อกำหนดวิธีการจัดการที่ถูกต้อง

การจัดเก็บน้ำเสียปนเปื้อนในครั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำทีมโดย บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในเครือปูนซีเมนต์นครหลวง พร้อมเครือข่ายพันธมิตรกว่า 23 แห่ง ได้แก่ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) , บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินโนเวสต์ จำกัด , บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด , บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด , บริษัท ซิมสุลาลัย จำกัด , บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด , บริษัท สุขเจริญทรัพย์ วังเย็น จำกัด , บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) , บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด , บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) , บริษัท วันมอร์ลิงค์ จำกัด , บริษัท ชูโชค ทรานสปอร์ต จำกัด , บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งแวดล้อม จำกัด , บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท เอเอสดับบลิว.เปเปอร์ แอนด์ ทรานสปอร์ตเทชั่น จำกัด , บริษัท เวสต์ ซีนเนอร์จี จำกัด , บริษัท วงศ์ตระกูลโลหะกิจ จำกัด , บริษัท ทรี อีโค เวสท์ แมเนจเมนท์ จำกัด , บริษัท ปูนซีเมนต์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ แอนด์ เอ วินเนอร์ จำกัด รวมถึงบริษัทอื่นๆ ในอำเภอภาชี โดยมีอำเภอภาชีอำนวยความสะดวก

ต่อมาในเวลา 17.00 น. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประชุมหารือร่วมกับ นายพิทยา ปราโมทย์ วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคณะลงพื้นที่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอภาชี ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแจ้งที่ประชุมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ กรอ. ได้นำหลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle; PPP) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดภาระความรับผิด (Liability) ตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิดไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนเสร็จเรียบร้อย ต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ประกาศลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 และอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากนั้น เวลา 18.00 น. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรภาชี เพื่อยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาคดี พร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และข้อหาตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

ขณะเดียวกัน กรอ. ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของโกดัง ได้แก่ บริษัท เพชรพืชผล จำกัด เจ้าของโกดังอาคารที่ 1-3 และ นายวิวัฒน์ ศักดิ์เจริญชัย เจ้าของโกดังอาคารที่ 4-5 รวมทั้ง บริษัท เพาะสอน จำกัด ผู้เช่าโกดังอาคารที่ 1-3 และนายจตุวุฒิ ผู้เช่าโกดังอาคารที่ 4-5 เชื่อมโยงไปถึงเจ้าของกากสารเคมี ต้องเป็นผู้รับผิดเบื้องต้นในฐานะผู้ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งออกคำสั่งให้นำของเสียอันตรายทั้งหมดออกไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2566 นอกจากนี้ กรอ. จะออกหนังสือเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบสำนวนการพิจารณาคดีต่อไป

“ทุกวินาทีของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชน คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างของความผิดที่เชื่อมโยงไปถึงเจ้าของกากของเสียที่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมต้องเสียไปด้วย ยืนยันจะใช้เครื่องมือทางกฎหมายให้ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบและได้รับโทษทางกฎหมาย” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายพิทยา ปราโมทย์ วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางสาวอภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอภาชี

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา #กรมควบคุมมลพิษ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #พระราชบัญญัติโรงงาน #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอันตราย #โกดังภาชี #PolluterPaysPrinciple #Liability