เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นางจินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นางสาววิชุดา สัมฤทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก นายอานันท์ ฟักสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ร่วมด้วย นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 และตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อเร่งติดตามการแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นการลงพื้นที่ติดตามครั้งที่ 2 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
โดยในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่แหล่งชุมชนและพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจาก นายธนู งามยิ่งยวด ประธานกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ ณ บ้านพักซึ่งอยู่ไม่ไกลโรงงาน พบว่า แหล่งน้ำยังคงมีปัญหามลภาวะทางกลิ่นที่อาจมาจากการปนเปื้อนสารเคมี จากนั้นเดินทางไปยังโรงงาน แวกซ์ กาเบ็จฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการขนย้ายของเสีย พบว่า บริษัทฯ เคลื่อนย้ายของเสียที่เกิดเพลิงไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ได้เพียงบางส่วน ประกอบด้วย ของเสียผสมรวมในถัง 200 ลิตร เศษถังโลหะปนเปื้อน ดินปนเปื้อน น้ำเสียปนเปื้อนจากถังสูง 14 ถัง และโครงสร้างเหล็กจากการรื้อถอน กว่า 1,000 ตัน รวมทั้งของเสียที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ กว่า 10 ตัน ซึ่งไม่แล้วเสร็จตามแผนงาน แม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะส่งหนังสือแจ้งเตือนให้เร่งดำเนินการให้ทันกำหนดระยะเวลา ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้าดำเนินการแทน เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการกระจายสู่พื้นที่ข้างเคียง โดยในส่วนพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้เคลื่อนย้ายของเสียออกไปทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือดินปนเปื้อนน้ำมันไขมันไฮโดรคาร์บอน คาดว่ามีปริมาตรกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนอาคารที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ จำนวน 45 อาคาร หลุมฝังกลบ น้ำในบ่อ และสระน้ำที่เป็นแหล่งรองรับน้ำปนเปื้อน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจนับเพื่อประเมินปริมาณและติดประกาศยึดของเสียดังกล่าว
ต่อมา เวลา 14.00 น. คณะลงพื้นที่ได้เข้าประชุมหารือร่วมกับ นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี เพื่อสรุปหาแนวทางแก้ไขปัญหาแวกซ์ กาเบ็จฯ โดยเร่งรัดของบประมาณกลางเพื่อดำเนินการในส่วนที่ยังพบปัญหาตกค้างให้แล้วเสร็จ ระยะแรกจำนวน 94.91 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการกำจัดของเสียตกค้างและดินปนเปื้อน ราว 10,000 ตัน จำนวน 60.46 ล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาลศึกษาวิธีฟื้นฟูน้ำใต้ดิน สำรวจจุดลักลอบฝังกลบกากสารพิษภายในพื้นที่บริษัทฯ รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำบาดาล จำนวน 32 ล้านบาท และสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จำนวน 2.45 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการกำจัดการปนเปื้อนใต้ดินที่แพร่กระจายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงาน จากนั้นจะฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดิน ตลอดจนสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงาน โดยจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยว่า หากได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งจัดการของเสียที่คงเหลือตกค้างให้เร็วที่สุด คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566 ทั้งนี้ การแก้ปัญหาระยะยาว ได้วางแผนปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนอุตสาหกรรม” เพื่อรองรับความเสียหายของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานในภายภาคหน้า โดยยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่นต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #แวกซ์กาเบ็จ #กากอุตสาหกรรม #ของเสียอุตสาหกรรม #ราชบุรีโมเดล